วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ไทยรู้เรื่องอาเซียนอันดับ 5 เสพข้อมูลผ่านเน็ตต่ำสุด


กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากคณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา รายงานผล "การสำรวจความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน" (Survey on ASEAN Community Building Efforts) ซึ่งจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ Ipsos Business Consulting
การสำรวจครั้งนี้เป็นการวิจัยในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยผลการสำรวจความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนแสดงว่า ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมีความเข้าใจพื้นฐาน และมีความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับอาเซียน (อาเซียน 10 ประเทศ มีอะไรบ้าง - อ่านต่อ)

โดยคาดหวังว่าเออีซีจะมีส่วนพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีผ่านการรับรู้จากสื่อต่าง ๆ
ส่วนผลสำรวจของภาคธุรกิจกลุ่มประเทศ CLMV กลับชี้ว่า มีความรู้สึกในเชิงลบ โดยมองว่าประเทศที่พัฒนามากกว่าจะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าในการรวมตัวของเออีซี
ด้านผลสำรวจของบุคคลทั่วไปนั้นเห็นว่า ประโยชน์สูงสุดจากการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน คือ "สันติภาพและความมั่นคง"
รองลงมาคือ การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเปิดภาคบริการอย่างเสรี ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการทำงานในอาเซียน ขณะเดียวกันจะส่งผลให้อัตราค่าแรงของแรงงานต่างด้าวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อแรงงานท้องถิ่น อันอาจจะเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา
ส่วนภาคประชาสังคมมองว่า ภายหลังจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ภาคการท่องเที่ยวจะเติบโตมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา แต่ก็จะยกระดับเศรษฐกิจในภาพรวมได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน
ทั้งนี้ คนที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษาจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มของอาเซียนมากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจเรื่อง "ความเข้าใจอันดีต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" พบว่าคนไทย 25% มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งอยู่ในอันดับ 5 โดยที่อันดับ 1 คือ มาเลเซีย อยู่ที่ 56%
ผลการสำรวจพบว่า ไทยรั้งท้ายในเรื่อง "ความเข้าใจในแนวโน้มการสูญเสียอุตสาหกรรมหลัก" (potential loss of core industry) และนอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การรับรู้ข้อมูลผ่านสื่อโทรทัศน์ของไทยนั้นสูงถึง 100% แต่กลับรับรู้ข้อมูลผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตต่ำที่สุดในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม รายงานการวิจัยของ Ipsos นี้ถูกตั้งคำถามจากประเทศสมาชิกในหลายประเด็น คณะผู้แทนถาวรไทยฯเห็นว่า รายงานนี้ยังคงมีส่วนที่ต้องปรับปรุงในหลายประเด็น เช่น ส่วนการนำเสนอผลการสำรวจซึ่งควรแยกให้เป็นรายประเทศ เพื่อจะได้สามารถแก้ไขการดำเนินงานได้ตรงจุดมากขึ้น
อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า การสำรวจยังไม่ครอบคลุมเสาสังคมและวัฒนธรรมมากนัก ทั้งนี้ การสำรวจควรทำผ่านช่องทางที่มีประสิทธิภาพสูงสุดใน
แต่ละประเทศ โดยผลการสำรวจทั้งหมดควรมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมกว่านี้ เช่น ควรมีการแนะนำการสื่อสารเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถนำไปปฏิบัติและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

คอลัมน์ รู้จักอาเซียน
โดย คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น